ผมร่วงจากพันธุกรรม (Androgenetic Alopecia)
ภาวะผมร่วงจากพันธุกรรม เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้นๆของปัญหาผมร่วงแม้ว่าจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ส่งผลต่อความสวยความหล่อ บุคลิกภาพ และความมั่นใจภาวะนี้พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ส่วนใหญ่จะเริ่มเป็นมากขึ้นตามอายุแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมักจะมีประวัติคนในครอบครัว เช่น คุณพ่อ/คุณแม่ผมบางด้วย
สาเหตุ
เกิดจากฮอร์โมนเพศชาย ที่ชื่อว่า Dihydrotestosterone (DHT) และปัจจัยทางด้านกรรมพันธุ์ ทำให้รากผมและเส้นผมมีขนาดเล็กและบางลงเรื่อย (Hair miniaturization) ร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงวงจรของเส้นผม (Hair cycle) ทำให้ระยะเติบโตของเส้นผมมีช่วงเวลาที่สั้นลง (Anagen phase สั้นลง) ผมจึงเติบโตได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้เส้นผมหลุดร่วงได้ง่ายมากขึ้น เมื่อเป็นแบบนี้ต่อเนื่องนานๆ จึงทำให้ดูผมบางหรือศีรษะล้านได้
ภาพถ่ายจากกล้องกำลังขยายสูง (Dermoscope) แสดงเส้นผมที่บางเล็กลง (Hair miniaturization) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของภาวะผมบางจากพันธุกรรม
ลักษณะของภาวะผมบางจากพันธุกรรม
จะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในผู้หญิงและผู้ชาย
- เพศชาย (Male pattern hairloss) มักเริ่มจากผมบางจากไรผมด้านหน้า ทำให้แนวไรผมร่นสูงขึ้นไปทาด้านบนและขมับ ทำให้ดูคล้ายตัว M (M pattern) และผมบางตรงกลางศีรษะ คล้ายวงไข่ดาว ถ้าเป็นมากอาจจะบางจากด้านหน้าและตรงกลางมาเชื่อมกันจนศีรษะล้านเป็นรูปตัว U คือยังคงเหลือเฉพาะเส้นผมตรงท้ายทอยที่ยังจะไม่ร่วงเพราะไม่ได้รับอิทธิพลจากฮอร์โมน DHT
ที่มาของภาพ Fitzpatrick’s Dermatology, 9th edition
- เพศหญิง (Female pattern hair loss)
เส้นผมมักร่วงและบางบริเวณกลางศีรษะ (แสกผม) โดยส่วนมากในผู้หญิงจะไม่บางจนกลายเป็นศีรษะแบบผู้ชาย
ที่มาของภาพ Bolognia Dermatology, 4th edition
การรักษาภาวะผมบางจากพันธุกรรม
การรักษาหลัก มี 2 วิธี
- ยารับประทาน เช่น Finesteride, Dutasteride, Minoxidil แต่ไม่ควรซื้อรับประทานเอง เพราะอาจเกิดอันตรายและผลข้างเคียงได้
- ยาทา เช่น Topical minoxidil, Topical finesterideเป็นต้น
ก่อนเริ่มใช้ยา ควรพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ใจก่อน ว่าใช่ภาวะผมบางจากพันธุกรรมจริงๆ
เพราะถ้าหากผมร่วงจากสาเหตุอื่นๆ วิธีการรักษาก็จะแตกต่างจากนี้
การรักษาทางเลือก (Alternative treatment)
มีหลายวิธี เช่น
- การใช้แสงเลเซอร์ความเข้มต่ำ (Low level laser therapy/LLLT) เป็นอุปกรณ์ที่นำไปใช้เองที่บ้านได้ มีหลายรูปแบบ เช่น หมวกเลเซอร์ ที่คาดผมเลเซอร์ หวีเลเซอร์
- การฉีดพลาสม่าของตัวเอง (Platelet rich plasma/PRP)
- การสัก (Scalp micropigmentation)
- ผ่าตัดปลูกผม (Hair transplantation)
อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาแบบทางเลือก ควรใช้คู่กับการรักษาด้วยวิธีหลักเสมอ
ทำอย่างไรหากเริ่มสังเกตว่าผมน้อยผมบางแล้วแต่ไม่อยากหัวล้าน ?
วิธีเบื้องต้นที่ทำได้ง่ายๆด้วยตัวเอง
- ถ้าเริ่มสังเกตว่าผมร่วงเยอะกว่าปกติ ให้ลองนับจำนวนที่เส้นผมที่ร่วงในแต่ละวัน หากมากกว่า 100-200 เส้นต่อวัน เป็นเวลาต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์
ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของผมร่วงก่อน
- งดการทำเคมี ดัด ย้อม ยืด ทำสี งดความร้อน เช่น หนีบ/ม้วน/รีดผม เพื่อช่วยให้ผมไม่อ่อนแอเปราะบางเพิ่ม
- เลือกหวีหรือแปรงผมที่ซี่ห่างๆ ค่อยๆหวีเบาๆ ไม่กระชาก
- ไม่สระผมบ่อยเกินไป โดยปกติแนะนำสระผมวันละ 1 ครั้ง หรือสระวันเว้นวัน แล้วแต่ความมันของโคนผม
- เลือกใช้แชมพูที่มีคุณสมบัติช่วยบำรุงความแข็งแรงของเส้นผมและช่วยลดการหลุดร่วงของเส้นผม
- ไม่หวีผมในขณะที่เส้นผมเปียกอยู่ ควรเป่าผมให้แห้งก่อนแล้วค่อยหวีผม
- ไม่ดึงหรือถอนผมตัวเอง
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่พอเหมาะ
- ไม่มัดผมรวบตึงแน่นๆอยู่ตลอดเวลา เพราะทำให้เกิดผมร่วงจากแรงดึง เรียกว่า Traction alopecia ได้
- หากิจกรรมผ่อนคลาย หลีกเลี่ยงความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ
แต่ถ้าหากทำแล้ว ประมาณ 2-4 สัปดาห์ยังพบว่าผมยังร่วงเยอะไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป
ข้อมูลบทความอ้างอิงจาก
- Bolognia Dermatology, 4th edition
- Fitzpatrick’s Dermatology, 9th edition
- Miteva M, Tosti A. Hair and scalp dermatoscopy. J Am Acad Dermatol. 2012 Nov;67(5)