8 สาเหตุผมร่วง

สาเหตุของผมร่วง

ตามธรรมชาติแล้วเส้นผมของเราจะทะยอยหลุดร่วงสลับกันไปทั่วทั้งศีรษะตามวงจรการงอกและหลุดร่วงของเส้นผม (Hair cycle) จำนวนเส้นผมที่ร่วงแบบปกติตามธรรมชาติโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 100-200 เส้นต่อวัน

      

ในวันที่ไม่ได้สระผม ไม่ควรร่วงเกินวันละ 100 เส้น

และอาจจะร่วงเยอะขึ้นแต่ไม่ควรเกิน 200 เส้นในวันที่สระผม 


ถ้าเริ่มสังเกตว่าผมร่วงเยอะกว่าปกติ
อันดับแรกให้ลองนับจำนวนที่เส้นผมที่ร่วงในแต่ละวัน หากมากกว่า 100-200 เส้นต่อวัน เป็นเวลาต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของผมร่วง โดยสาเหตุของผมร่วง มีหลายอย่าง ถ้าเป็นสาเหตุที่แก้ไขได้ เมื่อรักษาแล้วเส้นผมมักจะกลับมาเป็นปกติได้เหมือนเดิม แต่หากเป็นสาเหตุที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ก็ยังรักษาเพื่อชะลอไม่ให้เป็นมากขึ้น 

  1. ผมบางจากพันธุกรรม (Androgenetic alopecia) พบบ่อยในผู้ชาย แต่จริงๆแล้วสามารถเป็นได้ทั้งผู้หญิงและชายคนไข้มักจะมีประวัติคุณพ่อคุณแม่หรือคนในครอบครัวผมบางด้วย ผมบางเห็นชัดเจนตามอายุที่เพิ่มขึ้น สาเหตุเกิดจากเซลล์ที่รากผมได้รับอิทธิพลจากฮอร์โมนเพศชาย ทำให้ผมเส้นผมมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ งอกช้า และหลุดร่วงได้ง่ายขึ้น จนสังเกตเห็นชัดว่าผมบางโดยเฉพาะไรผมด้านหน้าและผมบริเวณกลางศีรษะในเพศชาย (Male pattern hairloss) หรือ แสกผมบางและกว้างในเพศหญิง (Female pattern hairloss) 
  2. ผมร่วงจากขาดสารอาหารเช่น วัยรุ่นที่ลดน้ำหนักที่ละหลายๆกิโลต่อเนื่อง การอดอาหาร ขาดธาตุเหล็ก ขาดธาตุสังกะสีขาดวิตามินดี คนที่รับประทานมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดเป็นเวลานานๆ ภารขาดสารอาหารและวิตามินแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม ทำให้ผมร่วงได้ เปรียบเสมือนต้นไม้ที่ขาดการรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ย 
  3. ผมร่วงจากโรคประจำตัวบางชนิด สามารถเป็นสาเหตุของผมร่วงได้ เช่น โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ลองสังเกตดูว่าถ้าหากมีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย อุจจาระสีดำคล้ำเหนียวคล้ายยางมะตอย มีประจำเดือนปริมาณมากต่อเนื่องนานๆ อาจจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคโลหิตจากจากการขาดธาตุเหล็กได้ วินิจฉัยจากประวัติ ตรวจร่างกาย และการเจาะเลือดดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด และตรวจวัดระดับธาตุเหล็กในเลือด ซึ่งหากได้รับการรักษาจนระดับธาตุเหล็กกลับมาปกติและไม่มีภาวะโลหิตจางแล้ว ปัญหาผมร่วงก็หายขาดได้, โรคไทรอยด์ ระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติก็ทำให้เกิดปัญหาผมร่วงได้เช่นกัน ซึ่งแพทย์สามารถเจาะเลือดเพื่อเช็คการทำงานของต่อมไทรอยด์ ร่วมกับการซักประวัติและตรวจร่างกาย ก่อนเริ่มให้การรักษาเพื่อปรับสมดุลของฮอร์โมนไทรอยด์ให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด เมื่อแก้ไขสาเหตุแล้ว ปัญหาผมร่วงก็สามารถดีขึ้นได้ 
  4. ผมร่วงจากโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น ซิฟิลิส (Syphillis), เชื้อราที่หนังศีรษะและเส้นผม (Tinea capitis) ซึ่งถ้าหากได้รับการรักษาแล้ว ปัญหาผมร่วงจากทั้งซิฟิลิส และโรคเชื้อราที่หนังศีรษะ สามารถหายขาดได้เช่นกัน (ผมกลับมาปกติ) 
  5. ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน(Immune) ที่ทำลายเซลล์รากผมตัวเอง เช่น โรคผมร่วงแบบหย่อม (Alopecia areata) ผมร่วงเป็นหย่อมวงกลมหรือวงรี อาจจะเป็นเพียงหย่อมเดียว หรือเป็นพร้อมกันหลายๆหย่อมก็ได้นอกจากเส้นผมที่ร่วงแล้ว ในคนไข้บางราย อาจมีการร่วงเป็นวงหย่อมของขนแขน ขนขา ขนตา ขนคิ้ว และขนที่อวัยวะเพศด้วยก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามโรคผมร่วงแบบหย่อมนี้สามารถรักษาหายขาดได้ 
  6. การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ซึ่งกระทบต่อวงจรการงอกและหลุดร่วงของเส้นผม (Hair cycle) เช่นผมร่วงหลังคลอด, ผมร่วงหลังการเจ็บป่วยหนักๆ (เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่), ผมร่วงหลังการตกเลือดมากๆ/หลังจากผ่าตัดใหญ่ โดยส่วนใหญ่ผมร่วงแบบนี้จะเกิดเพียงชั่วคราว เมื่อร่างกายค่อยๆปรับตัวได้อาจจะใช้เวลาหลายเดือนร่วมกับการให้ยารักษา เส้นผมก็จะกลับมาเป็นปกติได้ 
  7. การใช้ยาหรือได้รับยาบางชนิดก็ทำให้ผมร่วงได้เช่น ยา isotretinoin ที่ใช้รักษาสิว, ยาลดความดันกลุ่ม ACE inhibitor และกลุ่ม Beta Blocker, ยาจิตเวชบางตัว, ยาเคมีบำบัด (การได้รับคีโมในคนไข้มะเร็ง) เป็นต้น ซึ่งหากสังเกตว่าผมร่วงเยอะหลังจากได้รับยาเหล่านี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะบางกรณีอาจจะพิจารณาเปลี่ยนใช้ยากลุ่มอื่นทดแทนได้ (แต่ควรให้แพทย์เป็นคนช่วยดูแลให้ คนไข้ไม่ควรตัดสินใจเปลี่ยนยาหรือหยุดยาเอง) 
  8. สภาพจิตใจ เช่น ผมร่วงจากการดึงผมตัวเองซ้ำๆ (Trichotillomania) ที่พบได้บ่อยในวัยรุ่น สภาวะความเครียดความกดดันจากงานและความเจ็บป่วยหนักๆ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผมร่วงมากกว่าปกติได้ 

นอกจากสาเหตุที่กล่าวไปแล้วทั้งหมดยังมีโรคทางผิวหนังและเส้นผมที่ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงจนเซลล์รากผมถูกทำลายไปอย่างถาวร (Scarring alopecia) 

เช่น โรค Discoid lupus erythematous (DLE) ,Lichen planopilaris (LPP)  ,Folliculitis decalvansเป็นต้น

โรคในกลุ่มนี้แม้จะพบได้ไม่บ่อย แต่มีความสำคัญมาก เพราะปล่อยทิ้งไว้ จนได้รับการรักษาที่ล่าช้า จะทำให้เกิดผมร่วงอย่างถาวร

ดังนั้นจึงต้องรีบรักษาให้เร็วที่สุด โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเส้นผม เพื่อป้องกันไม่ให้ผมร่วงอย่างถาวร 

ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาภาวะผมร่วงที่ได้ผลดีอยู่หลายวิธี เพื่อช่วยลดการหลุดร่วงและชะลอไม่ให้ผมร่วงเยอะเกินไปในขณะเดียวกันก็พยายามกระตุ้นให้ผมงอกขึ้นมาใหม่ และช่วยบำรุงให้เส้นผมแข็งแรงมากขึ้นซึ่งพบว่าการเริ่มรักษาผมเริ่มร่วงตั้งแต่ยังเป็นไม่มากจะทำได้ง่ายและได้ผลดีกว่ารอให้เป็นมาก 

ข้อมูลบทความอ้างอิงจาก 

  1. Bolognia Dermatology, 4th edition 
  2. Fitzpatrick’s Dermatology, 9th edition