ปัญหาผมร่วงหลังคลอด

ปัญหาผมร่วงหลังคลอด


ปัญหาผมร่วงหลังคลอด
(Postpartum hairlossหรือ Telogen gravidarum) 

เป็นรูปแบบหนึ่งของภาวะผมร่วงทั่วทั้งศีรษะจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย (Telogen effluvium) มักเกิดขึ้นในช่วง2-3 เดือนหลังคลอด 

สาเหตุของภาวะผมร่วงหลังคลอด

เกิดจากในช่วงที่ตั้งครรภ์ คุณแม่จะมีเส้นผมที่หนาและหลุดร่วงน้อยกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่2-3 เพราะมีจำนวนเส้นผมที่อยู่ในระยะเติบโตเพิ่มมากขึ้น (Increase anagen hair) 

การที่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่มีเส้นผมที่ดูหนาขึ้น ยาวเร็วขึ้น และหลุดร่วงน้อยลง/ช้าลง 

เกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศหญิงที่ชื่อว่า เอสโตรเจน (Estrogen) โดยจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับก่อนตั้งครรภ์  

แต่เมื่อคลอดบุตรแล้ว ร่างกายของคุณแม่จะเกิดการปรับตัวทันที โดยระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลงสู่ระดับปกติอย่างรวดเร็วภายในช่วง 2-4 วันหลังคลอด ทำให้ช่วงหลังคลอดเส้นผมที่เคยอยู่ในระยะเติบโต(Anagen) ทั้งหมดเปลี่ยนเข้าสู่ระยะพัก(Telogen) พร้อมๆกัน ทำให้เส้นผมที่เติบโตอยู่กลายเป็นเส้นผมที่หยุดโตและทยอยร่วงไปทีละมากๆใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน จึงทำให้เกิดภาวะผมร่วงหลังคลอดจากกลไกที่เรียกว่า Delayed anagen release ที่ได้อธิบายไปข้างต้น 

อาการของภาวะผมร่วงหลังคลอด

ผมร่วงมากกว่าปกติ คือ มากกว่า 100-200 เส้นต่อวันต่อเนื่อง โดยเส้นผมที่ร่วงทั้งหมดจะเป็นเส้นผมที่หยุดเจริญเติบโตแล้ว(Telogen hair) รอเวลาที่จะทยอยหลุดร่วงไปตามวงจรของเส้นผม (Hair cycle) 

มักจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า ผมร่วงมากผิดสังเกตโดยเฉพาะเวลาที่สระผม เป่าผม หวีหรือใช้มือสางผม ทำให้สังเกตเห็นว่าผมบางทั่วๆทั้งศีรษะโดยที่หนังศีรษะยังดูปกติดีอยู่ 

ส่วนใหญ่ผมร่วงจากภาวะนี้จะเกิดขึ้นอยู่ประมาณ 2-3 เดือนหลังคลอด แต่ก็มีบางรายที่มีภาวะผมร่วงหลังคลอดยาวนานไปจนถึง 6 เดือน 

การรักษาภาวะผมร่วงหลังคลอด 

ถ้าผมร่วงมากๆ เช่น มากกว่า 200-500 เส้นต่อวัน หรือร่วงต่อเนื่องเกิน 2-3 เดือน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจดูว่าเป็นภาวะผมร่วงหลังคลอดจริงหรือไม่ หรือว่าผมร่วงเป็นจากสาเหตุอื่นๆ หากแพทย์ตรวจดูแล้วว่าเป็นภาวะผมร่วงหลังคลอดก็ไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเส้นผมในช่วงตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอด โดยเส้นผมจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ (หายเองได้) ซึ่งจะใช้เวลานานประมาณ 6-12 เดือน ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของร่างกายของแต่ละคน 

ในบางคนอาจจะเจอปัญหาว่ารอจนช่วงหลังคลอดผ่านไปหลายเดือนแล้ว แต่ผมก็ยังดูบางอยู่ ไม่กลับมาหนาเท่าเดิมอันนี้อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นๆร่วมด้วย เช่น ขาดวิตามินและสารอาหาร, ความเครียดจากการเลี้ยงลูก ภาวะผมบางจากพันธุกรรม ซึ่งหากคุณแม่ท่านใดที่ประสบปัญหาว่าผมไม่กลับมาหนาเท่าเดิม ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ทำให้ผมบางและทำการรักษา

ข้อมูลบทความอ้างอิงจาก

  1. Bolognia Dermatology, 4th edition 
  2. Fitzpatrick’s Dermatology, 9th edition
  3. Millikan L. Hirsutism, postpartum telogen effluvium, and male pattern alopecia.J Cosmet Dermatol. 2006;5(1):81-86. doi:10.1111/j.1473-2165.2006.00229.x
  4. Gizlenti S, Ekmekci TR. The changes in the hair cycle during gestation and the post-partum period.J Eur Acad Dermatol Venereol. 2014;28(7):878-881. doi:10.1111/jdv.12188
  5. Rebora A, Guarrera M, Drago F. Postpartum telogen effluvium.J Eur Acad Dermatol Venereol. 2016;30(3):518. doi:10.1111/jdv.12914

Referenceภาพประกอบ 

  1. Martínez-Velasco MA, Vázquez-Herrera NE, Maddy AJ, Asz-Sigall D, Tosti A. The Hair Shedding Visual Scale: A Quick Tool to Assess Hair Loss in Women.Dermatol Ther (Heidelb). 2017;7(1):155-165. doi:10.1007/s13555-017-0171-8

สั่งซื้อสินค้า หรือ ดูรีวิว :

Shopee : https://shopee.co.th/solvegroup_official
Facebook : fb.com/solvegroupthailand
IG : https://www.instagram.com/solvegroup_official

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

เพิ่มเพื่อน

02

← Previous Next →

Tags:

สุขภาพผู้หญิง ผม ความงาม
0 Comment(s)